จากตอนที่แล้วเราได้เรียนรู้กันไปถึงการปรากฎตัวของเงินในรูปแบบใหม่และเทคโนโลยี Blockchain จนได้มีการต่อยอดแนวคิดไปถึงสิ่งที่เรียกว่า Internet of Value เป็นการนำมาซึ่งมิติใหม่ๆ ของการใช้ชีวิตในรูป Digital ที่มนุษย์เราสามารถสิ่งของมีค่ากันได้ในโลก Online ในตอนนี้เราจะมากล่าวถึงกลิ่นอายในการสร้างระบบเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่จะมาเปลี่ยนแนวคิดของเราในแง่การเงินการลงทุน
มหกรรมเริ่มขึ้น
กระแสคลั่งการระดมทุนรูปแบบใหม่หรือที่เราได้ยินชื่อที่เรียกว่า ICO หรือชื่อเต็มคือ Initial Coin Offering ที่เปิดให้สามารถระดมทุนได้ในรูปแบบใหม่กับใครก็ได้ในโลก คำว่า ICO เริ่มเป็นที่นิยมกันในหมู่คนในแวดวงที่เกี่ยวเนื่องกับ Bitcoin และสกุลเงิน Digital รูปแบบต่างๆ กันมาหลายปีก่อนหน้า แล้วมาดังเป็นพรุแตกในช่วง ค.ศ. 2016-2017 ส่งผลให้คนทั่วโลกหันมาสนใจ Bitcoin และทำให้ราคาพุ่งขึ้นสูงในช่วงระยะเวลา 3-4 เดือน กระแส ICO ในตอนนั้นคนพูดถึงกันไปทั่ว บ้างก็ว่าจะมาทดแทน IPO หรือ Initial Public Offering บ้างก็ว่าจะมาเปลี่ยนโลกไปต่างๆนานๆ
สิ่งที่ทำให้ ICO กลายมาเป็นดาวเด่น นั้นคือการที่สามารถระดมทุนได้โดยไม่ต้องมีองค์กรที่น่าเชื่อถือแต่อย่างใด ไม่ต้องมีบริษัทที่ดำเนินกิจการแล้วมีรายได้จริง ระยะเวลาที่รวดเร็ว ค่าดำเนินการที่เมื่อเทียบกับกระบวนการ IPO ที่ต่างกันมหาศาล นั้นคือแนวคิดใหม่ที่เปิดขึ้นแล้วทำให้คนทั่วโลกที่มีไอเดียต่างๆ เร่งเขียนไอเดียของตนในรูปที่เรียกว่า Whitpaper นำเสนอไว้ใน Website ของตนและเปิดรับการระดมทุนจากบุคคลทั่วโลก และที่สำคัญคือมีคนลงทุนจริงๆ บางแนวคิดสามารถระดมทุนได้หลายร้อยล้านบาทในเวลาเพียงไม่กี่นาที จุดนี้จึงทำ ICO หอมหวานขึ้นมาโดยทันที
โครงสร้างเดิมต้องหันมามอง
ถ้าย้อนกลับไปมองการระดมทุนแบบ IPO นั้นมีกระบวนการมากมาย หากบริษัทหนึ่งต้องการระดมทุนต้องผ่านกระบวนการหลายเดือนหรือหลายปีในการแปลงสภาพเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และมีค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควรเมื่อเทียบกับ ICO ที่ค่าใช้จ่ายต่ำและรวดเร็วกว่ามาก แถมไม่มีกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ มาบังคับบอกให้บริษัทต้องทำอะไรบ้างเมื่อกลายสภาพเป็นบริษัท มหาชน แล้ว จากนั้นก็นำหุ้นของบริษัทไปแลกเปลี่ยนได้ในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะสังกัดกันเป็นประเทศๆ ไป
จุดนี้ที่โครงสร้างโลกไม่เคยเจอมาก่อน ปกติตลาดเสรีที่มีตลาดหลักทรัพย์อยู่หลายที่ในประเทศ เปิดและดำเนินงานกันโดยเสรีโดยระบบของเอกชนโดยรัฐบาลเป็นผู้กำกับดูแลนี้ที่เด่นชัดเลยจะมีเพียงแค่ที่สหรัฐอเมริกาและประเทศพัฒนาแล้วในไม่กี่ประเทศ ที่รัฐบาลเปิดให้มีตลาดแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ได้หลากหลายดูแลกันเองโดยเอกชน ในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทยเราด้วยนั้นโดยปกติตลาดหลักทรัพย์นี้จะกำกับดูแลโดยรัฐบาลเพื่อเป็นการปกป้องและดูแลโดยรัฐบาลแก่ประชาชนนักลงทุนโดยทั่วไป โดยมีหน่วยงานกำกับดูแลทำงานควบคู่กันกับตัวตลาดแลกเปลี่ยนอีกทีหนึ่ง และเมื่อ ICO มาถึงการออกหุ้นหรือหน่วยที่เรียกกันว่า Token นี้ก็ไม่ผ่านหน่วยงานกำกับดูแลแต่อย่างใด และอีกทั้งหน่วย Token นี้ก็นำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในตลาดแลกเปลี่ยนที่เรียกกันว่า Digital Exchange ที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่โดยเอกชนเปิดบริษัทกันขึ้นมาเพียงแค่ 1-2 ปี ในบางแห่งมีจำนวนยอดการแลกเปลี่ยนต่อวันสูงจนน่าจับตามอง
การกำกับดูแลที่ตามไม่ทัน
ด้วยสรรพคุณที่กล่าวมาของ ICO ในความง่ายในการระดมทุนนั้นจึงตามมาด้วย บรรดาโจรมากมายหลั่งไหลกันมาจากทั่วโลก เป็นสนามใหม่เปิดกว้างที่เรียกได้ว่าโจรแปลงกลายมาอยู่ในตลาดใหม่นี้กันอย่างเป็นมหกรรม นักลงทุนบ้างก็ตาดีได้ตาร้ายเสียกันทั่วหน้าไปตามๆ กัน เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าไอเดียที่ระดมทุนไปได้จะนำเงินที่ได้ไปทำตามอย่างที่คุยไว้ใน Whitepaper หรือไม่ นั้นทำให้ตลาดใหม่นี้มีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากโดยปกติบริษัทที่ระดมทุนโดยกระบวนการ IPO จะมีกฎหมาย ข้อบังคับกำกับชัดเจน หากบริษัทนำเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็มีสภาพบังคับให้ติดคุกกันได้ แต่กับโลก ICO ที่ไม่มีเลย นั้นจึงเป็นดาบสองคมที่น่ากลัว
รัฐบาลทั่วโลกจึงต้องรีบตามให้ทันไม่เช่นนั้น ประชาชนจะมีความเสี่ยงสูงมาก คนที่ไม่รู้เรื่องเลยนำเงินเก็บที่ตนหามาอย่างยากลำบากมาลงทุนเพื่อหวังไว้ว่าวันหนึ่งเงินนั้นจะเติบโตเลี้ยงดูตนเองยามแก่ แต่ไม่เป็นอย่างฝันเพราะโดนหลอกลวงด้วยนักต้มตุน ICO จุดนี้ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกตื่นตัวและหันมาสร้างข้อกำหนดให้มีสภาพบังคับเพื่อให้สามารถปกป้องนักลงทุนได้ ซึ่งในตอนนี้รัฐบาลในหลายประเทศก็เร่งที่จะออกข้อบังคับให้ชัดเจน เพื่อเป็นการเร่งให้ประเทศของตัวเองชัดเจนในวิธีกำกับดูแล
เปิดเกมส์ใหม่ เปิดเศรษฐกิจใหม่
จากที่ระบบตลาดเป็นของในแต่ละประเทศ นักลงทุนจะเข้าไปลงทุนในประเทศอื่นก็ต้องวางแผนทำเรื่องกันเป็นเรื่องเป็นราวและมีค่าใช้จ่ายอีกต่างหาก ซึ่งนั้นเลยทำให้ในทุกวันนี้การจะไปลงทุนหรือเทรดหุ้นในต่างประเทศจึงสงวนไปสำหรับนักลงทุนระดับกลางจนถึงรายใหญ่เท่านั้น แต่ด้วยรูปแบบ ICO และ Digital Exchange นี้ทำให้นักลงทุนไม่ว่าจะขนาดไหนสามารถกระโจนเข้าสู่ตลาดใหม่นี้ได้ทันที และถ้ามองในแง่ดี สิ่งนี้จะทำให้โลกเศรษฐกิจใหม่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว การกระจายความมั่งคั่งสู่รายย่อยเป็นไปได้จริง และข้อดีอีกหลากหลาย นี้จึงทำให้ในหลายประเทศเริ่มที่จะแข่งขันกันเปิดตัวข้อกำกับดูแลธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ ICO และ Digital Exchange
หากประเทศไหนมีข้อกำหนดมี Ecosystem ที่ชัดเจนและยุติธรรมแล้วนั้นจะเปรียบเสมือนอาวุธทางการเงินตัวใหม่เปิดโอกาสให้นักไอเดียและนักลงทุนจากทั่วโลกหลั่งไหลกันเข้าสู่ตลาดในระบบ Ecosystem ของตนได้เป็นอย่างดีจากโอกาสใหม่นี้ อย่างที่สหรัฐอเมริกาทำสำเร็จแล้วในปัจจุบัน นั้นทำให้หลายประเทศเริ่มที่จะออกรูปแบบการกำกับดูแล และที่เห็นจะเป็นกระแสใหม่คือคำว่า STO หรือ Security Token Offering เป็นการเล่นแร่แปลธาตุ ICO ไปอีกขั้น นำเอาการกำกับดูแลแบบ IPO มาใส่ไว้ให้ ICO บ้างในบางอย่างเพื่อเป็นการปิดข้อเสียต่างๆของ ICO แก่นักลงทุน นั้นจึงทำให้ STO กำลังได้รับการพิจารณาจากทั่วโลก แต่แนวคิดจะไปได้มากน้อยเพียงใดต้องติดตามกันต่อไป
เศรษฐกิจใหม่บน Blockchain
ในอีกหลายปีต่อจากนี้เราคงได้เห็นระบบเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ทำงานอยู่บน Blockchain ซึ่งจะกลายมาเป็น Infrastrucuture ของข้อมูลรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้สร้างโดยอิงกับพื้นฐานของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป โลกจะก้าวเข้าสู่ความเป็น Globalization มากขึ้นไปอีกขั้นอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน สิ่งที่ต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอนคือโครงสร้างเก่าที่จำเป็นต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โอกาสใหม่ๆ ที่เปิดกว้างสำหรับคนรุ่นถัดไป และแน่นอนความเชื่อที่เรื่องการลงทุนและซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่เราเรียนรู้และเชื่อถือกันก็ต้องโดนเปลี่ยนไปอย่างแน่นอนๆ ไม่ว่าจะในทางใดก็ทางหนึ่ง
ขอบคุณรูปภาพจาก
unsplash.com / @ishant_mishra54 / @themightyoo